วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

windows explorer ใน windows7









สัญลักษณ์ของ Windows 7
ส่วนภาพพื้นหลัง ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ไมโครซอฟท์เลือกใช้สัญลักษณ์ของ Windows เป็น Default Background ผมคิดว่าจุดประสงค์คือเผยแพร่สัญลักษณ์ของ Windows ที่จะปรากฎซ้ำแล้วซ้ำอีกบนจอคอมพิวเตอร์ ทีวี สิ่งพิมพ์ ฯลฯ จำนวนมหาศาลในอนาคต (ลองคิดดูสิครับว่าเราเคยเห็น ภาพนี้ กันบ่อยแค่ไหน)

ภาพพื้นหลังมาตรฐาน
สำหรับหน้าจอตอนบูท จะเริ่มจากหน้าจอสีดำมีตัวอักษรว่า Starting Windows แล้วค่อยๆ มีเม็ดสี 4 สีวิ่งออกมาจากตรงกลาง ประกอบร่างกันเป็นสัญลักษณ์ของ Windows เนื่องจากผมขี้เกียจจับภาพวิดีโอ ลองดูที่มีคนโพสต์ไว้ใน YouTube ละกันครับ ตรงนี้จะต่างไปจาก Vista อยู่บ้าง (อ่านรายละเอียดใน Engineering Windows 7) แต่ถ้าเทียบกับ Windows 7 Beta ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ
ไมโครซอฟท์ยังมีสัญลักษณ์สำหรับ Windows 7 อีกแบบ ที่ใช้ในการโปรโมทเท่านั้น (ผมหาสัญลักษณ์นี้ภายในตัว Windows 7 เองไม่เจอ) นั่นคือเอาขอบขวาบนของสัญลักษณ์ Windows ที่คล้ายๆ เลข 7 มาใช้ สัญลักษณ์นี้พบได้ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ Windows 7 รวมถึงเว็บไซต์ Windows 7 Thailand ของไมโครซอฟท์ประเทศไทย

สัญลักษณ์เลข 7 ที่ใช้ในแคมเปญการตลาด
ประเด็นสุดท้าย ผมคิดว่าสีของขอบหน้าต่างใน Windows 7 จะออกโทนฟ้า ในขณะที่โทนสีของ Vista คือสีดำ

Windows Explorer

Windows Explorer คือตัวจัดการไฟล์ (file manager) ซึ่งอยู่ควบคู่กับวินโดวส์มาตั้งแต่ Windows 95 (ถ้าเป็น Windows 3.x คือโปรแกรม File Manager) หน้าที่ของมันก็ตรงตามชื่อครับ ช่วยเราจัดการ (ลบ, ย้าย, คัดลอก, เปลี่ยนชื่อ ฯลฯ) ไฟล์ที่อยู่ในเครื่องนั่นเอง
สำหรับรอบของ Windows Explorer ผมจะไม่เขียนถึงประวัติและความเปลี่ยนแปลงในยุคเก่าๆ เพราะมันจะยาวมาก (ประเด็นเรื่องการออกแบบ file manager เขียนเป็นตำราได้เลย ถ้าสนใจลองดู ตำนาน Finder และ ตำนาน Nautilus ภาค Spatial) จะย้อนกลับไปเพียงยุค Vista เท่านั้น
Windows Explorer ในยุค Vista นั้นเปลี่ยนจากยุค XP พอสมควร
windows-explorer-vista
Windows Explorer ของ Vista (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่) [ภาพต้นฉบับ](http://www.microsoft.com/presspass/presskits/windowsvista/images/documents-explorer.jpg)จากไมโครซอฟท์
รายการเปลี่ยนแปลง
  • หน้าตาเปลี่ยนมาใช้ Aero ตามสมัยนิยม อันนี้ปกติ
  • Titlebar หายไป อันนี้ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจเหตุผลเหมือนกัน
  • ช่อง Address (หรือภาษายูนิกซ์เรียก path) กลายเป็น breadcrumb
  • เมนูหายไป คำสั่งที่เคยอยู่ในเมนูถูกรวมกับปุ่มควบคุม กลายเป็นแถบสีดำๆ
  • ในกรอบ Task Pane ด้านซ้ายมือ folder tree ถูกซ่อนลงไปซุกขอบล่าง พื้นที่เดิมแสดง Favorite Links แทน
  • ด้านล่างมี Details Pane เพิ่มเข้ามา
ผมคิดว่าเหตุผลของการเปลี่ยน path เป็น breadcrumb มีสองประการ อย่างแรกคือไมโครซอฟท์ปรับวิธี การเคลื่อนตำแหน่ง (traverse) ไปยังจุดต่างๆ ใน directory tree ทำได้ง่ายขึ้น คือแทนที่จะกดปุ่ม Up ย้อนกลับหนึ่งชั้น หรือคลิกที่โฟลเดอร์ที่ต้องการใน Folder pane ก็เปลี่ยนมาเป็นการกดเลือกโฟลเดอร์ที่ต้องการใน breadcrumb แทน เหตุผลข้อที่สอง ไมโครซอฟท์พยายามเลี่ยงการใช้ path ที่ผู้ใช้หน้าใหม่เข้าใจยาก (ต้องพิมพ์ path โดยมีสัญลักษณ์แปลกๆ) มาเป็น breadcrumb ที่มีลักษณะเป็นปุ่มกด ซึ่งเข้าใจได้ง่ายกว่า
โปรแกรมตระกูล file manager อีกตัวที่วิวัฒนาการไปในทางนี้คือ Nautilus ส่วน Finder แม้ว่าจะไม่มี path หรือ breadcrumb แต่โหมดการแสดงผลแบบคอลัมน์ก็ใช้แนวคิดใกล้เคียงกันกับ breadcrumb
หมายเหตุ: ทั้ง Windows Explorer และ Nautilus ยังสามารถกลับไปแสดง path ได้ สำหรับ Windows Explorer ให้คลิกตรงที่ว่างๆ ใน breadcrumb ส่วน Nautilus ต้องกด Ctrl+L
ประเด็นถัดมา การรวมเมนูกับปุ่มคำสั่งเข้าด้วยกัน กลายเป็นปุ่มควบคุมอยู่ในแถบสีเข้มใต้ breadcrumb เรื่องนี้สะท้อนแนวทางของไมโครซอฟท์ที่พยายาม "ลบเมนู" ออกไป ตามที่ผมเขียนไปแล้วในตอนที่ 3 (โปรแกรมตระกูล Windows Live ก็เข้าข่ายนี้ หรือจะนับ Ribbon ของ Office 2007 ด้วยก็ได้)
Details Pane เป็นเรื่องน่ายินดี คงไม่มีใครไม่ชอบเพราะมันช่วยให้เราดูข้อมูลของไฟล์ที่เลือกได้ง่ายขึ้น
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดของ Windows Explorer ใน Vista อยู่ที่ Task Pane เพราะ folder tree ที่ทุกคนคุ้นเคย (และเป็นส่วนประกอบหลักของ file manager แบบดั้งเดิม) ถูกลดความสำคัญลง และพื้นที่เดิมถูกทดแทนด้วย Favorite Links หรือสถานที่ที่ใช้บ่อย
การเปลี่ยนแปลงนี้มีความสำคัญอย่างไรในโลกของ File Manager? คำตอบคือไมโครซอฟท์กำลังเริ่มย้ายจากการอ้างอิงไฟล์ด้วยตำแหน่งจริง (absolute path) ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานของ hierarchy tree กลายมาเป็น virtual folder หรือโฟลเดอร์เสมือนที่ไม่จำเป็นต้องมีอยู่จริง!!!

Virtual Folder

แนวคิด virtual folder (บางโปรแกรมอาจใช้ชื่อว่า saved search, search folder หรือ smart folder) คือการสร้าง "โฟลเดอร์เสมือน" ที่ไม่มีข้อมูลอยู่ภายใน แต่ใช้วิธี "ค้น" (ในที่นี้คือ query) ข้อมูลจากตำแหน่งต่างๆ ที่ตรงกับเงื่อนไข (เช่น ชื่อ, เวลา หรือ ชนิด) มาแสดง
เท่าที่ผมเคยใช้มา โปรแกรมแรกที่มีฟีเจอร์นี้คือ Evolution ของ GNOME (ปัจจุบันคือ Novell Evolution) ซึ่งสามารถสร้างโฟลเดอร์ที่แสดงอีเมลตามเงื่อนไขที่ระบุได้ ภายหลังฟีเจอร์นี้กลายเป็นมาตรฐานในโปรแกรมอีเมลแทบทุกตัว (รวมไปถึงฟีเจอร์ Label ใน Gmail ก็เข้าข่าย) โปรแกรมชื่อดังตัวต่อมาที่นำแนวคิดนี้ไปใช้คือ iTunes ซึ่งน่าจะเป็นที่แรกที่ใช้คำว่า "Libraries" กับแนวคิดโฟลเดอร์แบบเสมือนนี้ ความสามารถนี้ใน iTunes ช่วยให้เราจัดการไฟล์มัลติมีเดียจำนวนมากๆ ได้ง่ายขึ้น และต่อมาก็กลายเป็นฟีเจอร์มาตรฐานในโปรแกรมจัดการมัลติมีเดียอื่นๆ เช่น โปรแกรมในชุด iLife ของแอปเปิล, Windows Media Player, Picasa รวมไปถึงโปรแกรมบนลินุกซ์อย่าง F-Spot, Rhythmbox, Banshee เป็นต้น
หลังจาก virtual folder แสดงผลงานในระดับโปรแกรมให้เป็นที่ประจักษ์แล้ว ก็เริ่มเข้าสู่ระดับระบบปฏิบัติการ ซึ่งก็ผูกติดกับฟีเจอร์ Desktop Search ที่เขียนถึงไปในตอนที่แล้วอย่างแนบแน่นเพราะใช้เอนจินการค้นหาเข้าช่วย ฝ่ายแมคเริ่มมีใน Mac OS X 10.4 Tiger ส่วนวินโดวส์เริ่มมีอย่างจริงจังใน Vista
หมายเหตุ: หลังจากค้นข้อมูลใน Wikipedia แล้วพบว่าต้นตำรับมาจาก BeOS ตั้งแต่ปี 1995 ครับ ล้ำเนอะ

"Libraries" ของ Windows Explorer

แม้ว่าแนวคิด virtual folder/library ในระดับโปรแกรมจะทำงานได้ค่อนข้างดี แต่ในระดับระบบปฏิบัติการ เรากลับไม่ค่อยได้ใช้มันสักเท่าไร ผมคิดว่าเป็นเพราะฟีเจอร์มันอยู่ลึกลับไปหน่อย (ต้องสั่ง search ก่อนแล้วค่อยบันทึกเงื่อนไข) และเอาจริงแล้วเราก็ไม่ได้ค้นหาข้อมูลในเครื่องบ่อยสักเท่าไรนัก (เป็นปัญหาระหว่างแนวคิด browser vs search ซึ่งเราคุ้นกับ browse กันมากกว่า)
Windows 7 จึงผลักดันแนวทาง virtual folder มากขึ้น โดยอิงจาก Libraries ของ iTunes นั่นเอง ค่า default ของ Windows 7 มี library มาให้ 4 อัน แยกตามประเภทของไฟล์แต่ละชนิด คือ Documents, Music, Pictures, Videos

Libraries ทั้ง 4 แบบ (คลิกเพื่อดูภาพขนาดเต็ม)
library
จากภาพข้างบนจะเห็นว่าตำแหน่งของมันมาโผล่อยู่ในแถบ Navigation Pane ด้านซ้ายมือของ Windows Explorer เลยครับ ใช่แล้ว มันมาอยู่แทน My Document, My Pictures, My Music นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม Libraries มาแทนแค่ตำแหน่งบนหน้าจอครับ My Documents, My Pictures พวกนี้ยังอยู่ที่เดิมไม่ไปไหน เพียงแต่มันกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของ Libraries เท่านั้นเอง ถ้าคลิกที่ library อันใดอันหนึ่ง (ในภาพคือ Pictures) จะเห็นโฟลเดอร์ย่อยด้านในเป็น My Pictures

ตัวอย่างการใช้งาน Documents library (คลิกเพื่อดูภาพขนาดเต็ม)
library-show
การทำงานของ Libraries คือระบุว่าโฟลเดอร์ใดบ้างที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ library (กี่โฟลเดอร์ก็ได้) จากนั้นเมื่อคลิกที่ library แล้วมันจะแสดงเนื้อหาของทุกโฟลเดอร์ในนั้นให้เห็น ภาพด้านบนแสดงไฟล์เอกสารที่มีต้นตอจากโฟลเดอร์ 3 อัน
แนวคิดนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เก็บไฟล์ชนิดเดียวกันแต่แยกคนละไดรว์ เช่น เก็บเอกสารที่สร้างใหม่ใน My Documents เพราะมันเป็นจุดที่โผล่มาในหน้าต่าง Save แต่ก็ยังเก็บไฟล์เฉพาะโครงการไว้ในไดรว์ D: ด้วย
กรณีของผมเองจะเก็บไฟล์สำคัญไว้ในโฟลเดอร์ Dropbox เพื่อสำรองข้อมูลไปในตัว แต่ก็มีปัญหาว่าจำไม่ได้ว่าไฟล์ของเราเก็บไว้ที่ไหนกันแน่ ระหว่างโฟลเดอร์ My Documents หรือ Dropbox ซึ่ง Libraries แก้ปัญหานี้ให้ผมได้แบบหมดจด เมื่อเพิ่มโฟลเดอร์ Dropbox ลงใน Documents library จากนั้นไปคลิกที่ Documents จุดเดียว ก็สามารถเลือกไฟล์ที่ต้องการได้เลย
การเพิ่มโฟลเดอร์ลงใน library ก็ทำได้ง่ายๆ โดยเลือกโฟลเดอร์ที่ต้องการ แล้วกดปุ่ม Include in library ในแถบเครื่องมือด้านบน (จากภาพจะเห็นว่าเราสามารถสร้าง library เพิ่มขึ้นเองได้อิสระ เช่น อาจเป็น library เก็บงานของโครงการใดโครงการหนึ่งที่ทำอยู่)

library-add-menu

หรือไม่ก็คลิกขวาที่ library แต่ละอัน เลือก Properties จะพบหน้าจอตามภาพ กดปุ่ม Include a folder

library-add

ความดีความชอบอีกอันของ Libraries คือวิธีการเรียงข้อมูล ที่มุมขวาบนของ library แต่ละอันจะมีข้อความที่เขียนว่า Arrange by ซึ่งค่ามาตรฐานจะเป็นเรียงตามโฟลเดอร์ต้นทาง (ตามภาพด้านบน) แต่เราก็สามารถเรียงแบบอื่นๆ ได้

จัดกลุ่มภาพตามเดือน
library-sort

จัดกลุ่มภาพตามวันที่
library-sort-day
ในการเขียนรีวิว Windows 7 รอบนี้ ผมได้ใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์ Libraries อย่างเต็มที่เพราะต้องเก็บ screenshot เป็นจำนวนมาก ผมใช้วิธีอัพโหลดภาพทั้งหมดขึ้นไปบน Flickr ผ่าน FlickrUploadr แต่เนื่องจากเก็บภาพไม่ค่อยเป็นระเบียบ จำไม่ได้ว่าไฟล์ไหนอัพโหลดไปแล้วบ้าง ถ้าเป็น Windows Explorer แบบปกติก็สั่งแสดงข้อมูลแบบ Details แล้ว Sort by Date เพื่อหาเฉพาะภาพที่จับหน้าจอในวันปัจจุบัน ปัญหาคือดูไม่ออกว่าภาพอะไรเป็นอะไรเนื่องจากไอคอนในโหมด Details นั้นเล็กจนมองไม่เห็น (วินโดวส์ไม่มีวิธีแสดงตัวอย่างภาพแบบง่ายๆ เหมือนกับ Quick Look บนแมค) พอมีฟีเจอร์ Libraries ปัญหานี้ก็หมดไป ผมใช้ Arrange by Date ใน Libraries แล้วเลือกแสดงเป็น Large Icons เป็นโซลูชันที่เรียบง่ายและสวยงาม (ดูรูปข้างบนประกอบ)
Library แต่ละอันจะมีโหมดการแสดงผลที่ต่างกัน อย่าง Music library เราสามารถแสดงตามอัลบั้ม ศิลปิน หรือเพลงได้ ถ้าเป็น Videos library ก็แสดงตามความยาวหรือปีของหนังที่ฉายได้เช่นกัน อ่านมาถึงตรงนี้อาจรู้สึกคุ้นๆ ว่าเหมือนการแสดงไฟล์ของ iTunes/Windows Media Player ก็เข้าใจถูกแล้วครับ Windows Media Player 12 (รวมถึง Windows Media Center) ที่มากับ Windows 7 ไม่จัดการไฟล์เอง แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ Libraries ที่ระดับระบบปฏิบัติการเลย ผมคิดว่าในอนาคตโปรแกรมจัดการมัลติมีเดียยี่ห้ออื่นๆ (อาจรวมไปถึง iTunes) จะรองรับฟีเจอร์นี้ ความฝันที่เรามี Libraries ชุดเดียวแต่ให้ทุกโปรแกรมใช้ร่วมกันได้ จะได้เป็นจริงเสียที

หน้าต่าง Open File ของ Firefox 3.5
open-dialog
ใน Windows 7 เราจะพบกับ Libraries ทุกครั้งเมื่อต้องจัดการไฟล์ ลองกดปุ่ม Open/Save จะเห็น Libraries โผล่ขึ้นมา เป็นการบังคับโดยอ้อมๆ ให้เราใช้ฟีเจอร์นี้ (บางโปรแกรมที่ไม่ได้ใช้ Open/Save dialog แบบมาตรฐาน เช่น GIMP หรือ OpenOffice จะไม่รองรับครับ ใช้แล้วขัดใจมาก)
หมายเหตุ: รายละเอียดของ Libraries อ่านต่อได้จาก Windows Team Blog

Windows Explorer ใน Windows 7

นอกจากฟีเจอร์ Libraries ที่เพิ่มเข้ามาแล้ว Windows Explorer ของ Vista กับ 7 ไม่ค่อยต่างกันมากนัก ส่วนที่เปลี่ยนแปลงคือหน้าตาในบางจุดมากกว่า เพื่อความเข้าใจอันดี ลองดูรูปภาพเปรียบเทียบ (คลิกเพื่อดูภาพขนาดเต็ม)
Windows Explorer in Vista and 7
เปรียบเทียบ Windows Explorer ใน Vista กับ 7
รายการเปลี่ยนแปลง
  • แถบ Navigation Pane ที่มี Favorite Links กับ Folders แยกกัน กลายเป็นอันเดียวที่รวมทั้ง Favorite, Libraries และ Computer มาไว้ในที่เดียว (ฟีเจอร์ Homegroup จะเขียนถึงในตอนต่อๆ ไป)
  • แถบเครื่องมือด้านบนเปลี่ยนเป็นสีอ่อน ไอคอนบนปุ่มหายไป ปุ่ม View และ Preview ถูกย้ายมาชิดด้านขวา
  • ปุ่ม Preview ถูกเพิ่มเข้ามา
  • มีโหมดแสดงผลแบบ Content (ตามรูปด้านล่าง) อยู่กึ่งๆ ระหว่างโหมด List และ Details
explorer-sort-content
การแสดงผลแบบ Content

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น